วิกฤติโควิด-19 ระบาดใหม่ จุดเริ่มจากตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร หลายพื้นที่ชื่อดังจังหวัดต่างๆ งดจัดกิจกรรม การระบาดครั้งนี้คนไทยต้องร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อสกัดกั้นเชื้อและป้องกันตัวเองตามสุขอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญที่สุดในช่วงนี้แล้ว ถูกกักตัว เนื่องจากเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง
มีคนไทยอีกหลายคนรู้สึกเครียด กังวลใจที่ต้องระมัดระวังตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อไวรัส จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ ดังนั้นนอกจากระวังสุขภาพกาย เราอาจต้องปรับสุขภาพจิตตนเองให้แข็งแรงด้วยเช่นกัน จากคำแนะนำดีๆ ของ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา และโฆษกกรมสุขภาพจิต ที่จะมาชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตไม่ให้เครียด เพื่อฝ่าด่านจากวิกฤติในครั้งนี้ไปได้อีกครั้ง
เทคนิค กักตัวไม่ให้น่าเบื่อ
ความรู้สึกกังวลเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการเผชิญวิกฤติและความเครียดมีความสัมพันธ์กับการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเกิดความเครียด สมอง ต่อมหมวกไต จะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติจากเดิมจนเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ
สิ่งที่จะตามมาจากความเครียด คือ
- มีปัญหาสุขภาพกาย เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดบ่า ปวดไหล่ ท้องผูก ท้องเสีย
- อาการของโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ อาจกำเริบแปรปรวนมากขึ้น
- อารมณ์และความรู้สึกผิดปกติ เปลี่ยนแปลง แปรปรวน เช่น ท้อแท้ เบื่อไปหมดทุกสิ่งรอบตัว เฉยชา
ส่วนวิธีคลายเครียดเพื่อช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ทำจิตใจให้สงบได้ด้วยตัวเองนั้นทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- สูดหายใจช้าๆ ลึกๆ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจขึ้น
- เปลี่ยนโฟกัส หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ อย่าให้ว่างจนคิดมาก เช่น ทำอาหาร ออกกำลังกาย ทำความสะอาดบ้าน อ่านหนังสือ ดูทีวี
- สั่งอาหารอร่อยๆ มารับประทานที่บ้านบ้างเพื่อลดความจำเจ
- เชื่อมต่อกับคนอื่นผ่านโลกโซเชียล โทรคุยกัน หรือจะ Video Call ให้เห็นหน้ากันบ้าง และพยายามอย่าคุยกันเรื่อง Covid-19 ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือจะอวยพรปีใหม่ก็ทำได้
- เรียนรู้สิ่งใหม่ทางโลกออนไลน์ เช่น ลงคอร์สเรียนออนไลน์ที่ชื่นชอบ ร้องเพลง ทำขนม
- เมื่อรู้สึกลบต้องพยายามปรับให้เป็นบวก และให้กำลังใจตัวเองเสมอ เช่น ไม่ได้มีเราเพียงคนเดียวที่ถูกกักตัว 14 วัน คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้
- ก่อนนอน คิดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้น ลดความจำเจ
- กินอาหารน้อยๆ แต่กินบ่อย และกินหลากหลายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง หากกินมากทุกมื้อ เสี่ยงโรคอ้วนตามมาได้
- จัดมุมต่างๆ ในห้องใหม่ เช่น เปลี่ยนชุดผ้าปูที่นอนทุก 3 วัน, ย้ายมุมโต๊ะทำงาน, จัดย้ายโซนโซฟาที่นั่งไปมุมอื่นๆ